คณะกรรมการหมู่บ้านและชุมชนบ้านอ่างทอง (แหลมดิน-หินลาด - หน้าทอน- ตะเกียน-บางมะขาม-พะลวย) ร่วมกับชาวบ้านตำบลอ่างทอง ได้ร่วมกันจัดงาน สังสรรค์ ‘กินข้าวห่อ’ สืบต่อประเพณี ส่งเสริมให้คนดีมีคนเห็น เพื่อเป็นการพบปะสังสรรค์ในชุมชน และร่วมชื่นชมแสดงความยินดีกับ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ชาวตำบลอ่างทอง ที่ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ปี 2552 ในวันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม 2552 ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ถึง 20.00 น. ณ ศาลาท่าเรือประมงหน้าทอน (สะพานกลาง)
ทางคณะกรรมการชุมชนบ้านอ่างทอง เป็นเจ้าภาพในการจัดเตรียมสถานที่และน้ำดื่มและขอเชิญผู้ร่วมงานนำอาหารเข้าร่วมพบปะสังสรรค์ กินข้าวห่อ และพบกับ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ในวันและเวลาดังกล่าว
ประวัติ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์
เกิดที่ บ้านหน้าทอน ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
บุตรนายแพทย์ สมคิด ไกรสินธุ์ และคุณแม่เฉลิมขวัญ ไกรสินธุ์
เรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนวัดแจ้ง
ชั้นประถมศึกษาตอนปลายเป็นนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนบ้านอ่างทอง (วันครู 2502)
จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านเภสัชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาโทด้านเภสัชวิเคราะห์ จากมหาวิทยาลัย Strathclyde สหราชอาณาจักร
ปริญญาเอกด้านเภสัชเคมี จากมหาวิทยาลัย Bath สหราชอาณาจักร
เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข
และปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเภสัชกรรม ขององค์กรให้ความร่วมมือด้านยาของประเทศเยอรมันนี
ดร. กฤษณา และทีมงานวิจัย ได้ร่วมกันพัมนาสูตรตำรับยาและศึกษาเภสัชชีวสมมูลของยาเอดส์ชนิดต่างๆ ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่สามารถผลิตยาต้านเอดส์ที่มีคุณภาพดีราคาถูกออกวางขาย
ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณในการอุทิศตนเพื่อมวลมนุษยชาติอย่างมากมาย อาทิ เช่น
• ในปี พ.ศ. 2544 ได้รับรางวัล A Gold Medal at Euraka 50th World Exhibition and New Technology ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม
• ในปี พ.ศ. 2547 ได้รับรางวัล Global Scientific Award จาก The Letten Foundation ในฐานะมีผลงานดีเด่นในการศึกษาวิจัยและรักษาโรคเอดส์
• ในปี พ.ศ. 2548 ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ด้านวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย Mount Holyoke – College สหรัฐอเมริกา , ได้รับรางวัล Reminders Day Award 2005 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันนี, ได้รับปริญญาเภสัชศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักด์ จากมหาวิทยาลัย Strathclyde สหราชอาณาจักรและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
• ในปี พ.ศ. 2549 ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 2007 Speaker for the Chancellor’s Distinguished Lectureship Series จากมหาวิทยาลัย Louissiana State University สหรัฐอเมริกา
• ในปี พ.ศ. 2551 ได้รับรางวัลบุคคลแห่งปีของเอเชียโดยนิตยสารรีดเดอร์สไดเจสท์, ได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคม โดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี










