ประโยชน์อย่างยั่งยืน คือ ทางออกของเกาะสมุย เกาะพะงันและเกาะเต่า
เป็นเวลาเกือบ 2 ปีเต็ม นับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 ที่พี่น้องประชาชนในเกาะสมุย เกาะพะงันและเกาะเต่า ได้ร่วมกันฟ้องศาลปกครองกลาง กรณีหน่วยราชการหลายหน่วยงาน ได้ให้ความเห็นชอบกับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และอนุมัติให้มีการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในพื้นที่ที่ควรดูแลรักษาไว้เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารทะเลและแหล่งการท่องเที่ยวทางทะเลที่มีความสำคัญของประเทศ แม้เวลาจะผ่านมานานพอควรและคดียังไม่มีการตัดสินจากศาล แต่สิ่งที่น่าสังเกตยิ่งก็คือ ความเคลื่อนไหวในพื้นที่เกาะต่าง ๆ ของหน่วยงานด้านพลังงาน ทั้งของรัฐและเอกชน ที่พยายามสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับชุมชน ผู้นำชาวบ้าน หน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งพอจะสรุป รูปแบบความเคลื่อนไหวได้ ดังนี้
1. การตั้งคณะทำงานร่วม “ไตรภาคี”
การตั้งคณะทำงานไตรภาคี ในระยะเริ่มต้น เป็นความเห็นร่วมกันจากหลาย ๆ ฝ่ายที่ต้องการลดความขัดแย้ง ในประเด็นการขุดเจาะน้ำมันโดยผ่านเวทีการพูดคุย ประกอบด้วย ตัวแทนจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ บริษัทผู้ได้รับสัมปทานการขุดเจาะและตัวแทนจากประชาชน ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่ทั้ง 3 เกาะ คณะทำงานไตรภาคี มีประธานเป็นอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ขณะที่รองประธาน คือ นายกเทศมนตรีเมืองเกาะสมุย จัดการประชุมเพื่อสรุปความเห็นจากที่ประชุม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุง ทิศทาง นโยบาย และวิธีการปฏิบัติของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในพื้นที่รอบ ๆ เกาะทั้ง 3 อย่างไรก็ดี ประเด็นสรุปจากที่ประชุม จะเป็นเพียงข้อเสนอแนะ เท่านั้น ไม่มีผลผูกพันธ์ ในทางกฎหมายใด ๆ ที่จะต้องปฏิบัติตาม
การตั้งคณะทำงานไตรภาคี หลายฝ่ายมีความกังวลว่า อาจตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายราชการและบริษัทขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งมีความเหนือกว่าทั้งเรื่องอำนาจเงินทองและอำนาจบริหารราชการ อย่างไรก็ตามทั้งฝ่ายกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและบริษัทผู้รับสัมปทาน ต่างก็แสดงเจตจำนงค์ ว่ามีความจริงใจที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาและเรียนรู้ความต้องการของท้องถิ่นและประชาชนแต่หากพบว่าสาระของการประชุมมิได้เป็นไปเพื่อประชาชนและคนส่วนใหญ่แล้ว เชื่อว่า “ไตรภาคี” ก็คงมีอนาคตที่ไม่ยืดยาวนัก
2. โครงการความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ให้กับชุมชน (CSR)
เครือข่ายกิจการด้านพลังงานทั้งของรัฐและเอกชน ลงพื้นที่ทั้ง 3 เกาะ นำโครงการและความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม เช่นโครงการสร้างปะการังเทียม ให้ชุมชนมุสลิมหัวถนน โครงการทาสีโรงเรียน โครงการช่วยเหลือบรรเทาอุทกภัย โครงการปลูกฝังเยาวชนอนุรักษ์พลังงาน โครงการปลูกมะพร้าวให้เกาะสมุย เป็นต้น โครงการต่าง ๆ เหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วมักได้รับการตอบรับที่ดีจากชาวบ้านและท้องถิ่นและมีแนวโน้มที่จะเกิดมากขึ้นในอนาคต
รูปแบบวิธีการช่วยเหลือในลักษณะเช่นนี้ เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของภาคใต้ ที่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนต้องการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน ท่าเรือขนาดใหญ่ หรือนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น บางพื้นที่ที่ยอมรับความช่วยเหลือ มักเกิดความขัดแย้งในชุมชนในพื้นที่ระหว่าง “เอา” กับ “ไม่เอา” และท้ายที่สุดแล้ว การขาดความสามัคคี นำมาสู่ความพ่ายแพ้ของชุมชนต่อกระแสทุน ตัวอย่างความเข้มแข็งของชุมชนชาวประจวบคีรีขันธ์ ที่ประกาศไม่ยอมรับความช่วยเหลือใด ๆ ที่ถูกหยิบยื่นให้ ทำให้ชาวบ้านยังคงรักษาไว้ซึ่ง วิถีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนกับท้องถิ่นและชุมชนของตัวเอง
3. โครงการขนาดใหญ่ที่รัฐเป็นผู้ผลักดัน
มีโครงการหลายโครงการที่กระทรวงพลังงาน นำโครงการและงบประมาณมาดำเนินการขับเคลื่อนในพื้นที่ เช่น โครงการเกาะสีเขียว (เกาะพะลวย) เป็นโครงการต้นแบบของพื้นที่ใช้พลังงานสะอาด โครงการ APEC Low Carbon Model Town ที่จะดำเนินการที่เกาะสมุย โดยการสนับสนุนจากกรมพลังงานทดแทนและกลุ่มประชาคม APEC
การเกิดขึ้นของโครงการขนาดใหญ่ ๆ เหล่านี้ หากไม่มองว่าเป็นโครงการการบังหน้า ที่ถูกนำมาเพื่อเป็นการเปิดทางให้เกิดโครงการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่โดยรวมเกาะสมุยแล้ว โครงการเหล่านี้ก็เป็นโครงการที่ดี มีประโยชน์และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อเมืองท่องเที่ยว เช่นเกาะสมุย เกาะพะงันและเกาะเต่า จึงเป็นเรื่องที่สังคม ต้องเฝ้าติดตาม พัฒนาการของโครงการเหล่านี้อย่างใกล้ชิด
ด้วยความซับซ้อนของผลประโยชน์ที่เกิดจากเครือข่ายกิจการพลังงานทั้งของรัฐและเอกชน ที่ลงมากระทำต่อพื้นที่เกาะเล็ก ๆ ในอ่าวไทยทั้ง 3 เกาะ จึงมีความเป็นไปได้ที่ชุมชนจะถูกชักนำให้คล้อยตามกระแสการพัฒนาที่ต้องจัดหาพลังงานเพิ่มขึ้นให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ชุมชนเองก็จะได้รับประโยชน์ระยะสั้นตอบแทนหลากหลายรูปแบบ จึงมีความเป็นไปได้ที่ชุมชนจะลดกระแสการต่อต้านคัดค้านโครงการและกิจการด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือกิจการด้านพลังงานที่เกิดขึ้นในอาณาบริเวณนี้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
อย่างไรก็ตาม หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเครือข่ายองค์กรเอกชนด้านธุรกิจ และชุมชน ยังมีความเข้มแข็ง มีจุดยืนที่ชัดเจนในการรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติ ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การบริการและความมั่นคงทางอาหารของชาติจากการเกษตร การประมง ร่วมใจกันปฏิเสธผลประโยชน์เล็ก ๆ น้อย ๆ ในระยะสั้นที่ถูกหยิบยื่นให้ อย่างไม่เคารพในศักดิ์ศรีของชุมชน เชื่อว่าภาคกิจการพลังงานต้องปรับทิศทางการทำงาน และสร้างการประณีประนอมกับความต้องการของชุมชนมากขึ้นและอาจนำไปสู่การกำหนดเขตปลอดการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมซึ่งผลประโยชน์อย่างยั่งยืนก็จะตกกับท้องถิ่น ชุมชน และประเทศชาติในที่สุด
อานนท์ วาทยานนท์
ประชาสัมพันธ์ เครือข่ายรักษ์อ่าวไทย
(เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า)
Relate topics
- พัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหาร : พัฒนาศักยภาพผู้นำเพื่อร่วมพัฒนาประเทศ
- อยากถามคะ โรงพยาบาลในเกาะสมุยที่ไหนรับตรวจ DNA บ้างคะ
- เกาะสมุยกับ “การท่องเที่ยวสีเขียว”
- โรงพิมพ์สมุยอักษร รับรางวัล “เหรียญเงิน” จากการประกวดสิ่งพิมพ์แห่งชาติ ครั้งที่ 9
- จากวันรวมพลังคนสมุยจับมือต้านแท่นขุดเจาะสู่การรวมพลังคนไทยจับมือปฏิรูปพลังงาน
