หาดงามบางมะขามหรือจะเหลือเพียงอดีต
ใครที่ได้เยือนเกาะสมุยมาแล้ว คงจะไม่อาจปฏิเสธความงดงามในยามพระอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า ที่หาดบางมะขาม หาดงามที่มีความยาวเกือบ 2 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับตัวเมือง “หน้าทอน” วันเวลาที่เปลี่ยนเกาะสมุยให้เป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้ชุมชนหน้าทอน เติบโตเป็นชุมชนใหญ่ชุมชนหนึ่ง และสิ่งที่เติบโตตามเมือง ก็คือ ขยะ น้ำเสีย และสิ่งปฏิกูลทั้งหลาย ที่ถูกทิ้งตามตรอกซอย และไม่ได้ถูกกำจัดโดยถูกต้อง จะถูกฝนในฤดูน้ำหลากพักพาลงสู่คลองหลายสายที่ไหลออกทะเลบริเวณอ่าวบางมะขาม – หน้าทอน ทำให้ขยะจำนวนมาก ถูกน้ำพัดพาสะสมอยู่ในเวิ้งอ่าว ถูกคลื่นพัดพาขยะเข้าออกเป็นระยะ ทำให้หาดบางมะขามในเวลานี้ เต็มไปด้วย ขวดเบียร์ ขวดเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ถุงพลาสติก ซองพลาสติกใส่อาหารนานาชนิด ทั้งที่ฝังตัวอยู่ในทรายใต้น้ำและบริเวณหาดทรายช่วงน้ำขึ้น – น้ำลง
จากการร่วมกันเก็บขยะ ทำความสะอาดหาดบางมะขามในวันแม่แห่งชาติ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา สามารถนำขวดและภาชนะพลาสติก ถุงพลาสติก ขึ้นมาจากชายหาดได้กว่า 1 คันรถดั๊มขนขยะของเทศบาล แต่เชื่อว่ายังมีปริมาณตกค้างอยู่อีกจำนวนมาก หากเรายังปล่อยให้สภาพการณ์ยังเป็นอยู่เช่นนี้ เชื่อว่าจะเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งไม่ว่าจะเป็นพืชพรรณ สัตว์น้ำต่าง ๆ ดังที่เกิดแล้วกับความเสื่อมโทรมของปะการังในบริเวณนี้ รวมถึงสภาพหาดทรายที่เริ่มเปลี่ยนสี ไม่ขาวสะอาดเช่นที่เคยเป็นมา
สภาพความไม่ปกติเช่นนี้ สังคมส่วนหนึ่งอาจไม่ต้องการเปิดเผยสภาพความจริง เกรงจะเสียภาพพจน์ด้านการท่องเที่ยว การเมือง หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่หากเราต้องการสร้างความเจริญอย่างยั่งยืนให้กับเกาะสมุย การยอมรับสภาพปัญหาร่วมกันของทุกองค์คาพยบในสังคม จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดและทันเวลา ดีกว่าการช่วยกันปกปิด นั่งทับปัญหาจนสายเกินแก้ไข
การแก้ไขปัญหาเรื่องขยะและน้ำเสียลงทะเล คงไม่สามารถแก้ไขได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เทศบาลก็คงไม่มีกำลังพอจะรับมือกับขยะที่คนเกือบสองแสนช่วยกันก่อขึ้นทุก ๆ นาที แต่แน่นอนว่าเทศบาลเองก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพราะเป็นผู้ขันอาสาเข้ามาทำงาน คำถามจึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรสังคมโดยรวมจะเข้ามาแบ่งเบาภาระอันหนักหน่วงของเทศบาลได้
เป็นที่ยอมรับกันว่า สังคมบริโภคนิยมเช่นปัจจุบัน ทำให้คนเรามีความเห็นแก่ตัวกันมากขึ้น มีสภาพอยู่แบบตัวใครตัวมัน หน่วยงานใคร หน่วยงานมัน สำนึกต่อส่วนรวมมีน้อยมาก จึงมีส่วนทำให้สภาพปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมรุนแรงขึ้นทุกวัน เพราะต่างก็คิดว่าไม่ใช่หน้าที่ การ “ปลุก” จิตสำนึกในผู้ใหญ่ดูจะเป็นเรื่องยากเข้าทำนอง “ไม้แก่ดัดยาก” และทำอะไรตามสบาย คือ ไทยแท้ จึงขาดระเบียบ ขาดวินัยทางสังคมอย่างมาก เราจึงเห็นสภาพขยะเกลื่อนเมือง จากการทิ้งโดยขาดความรับผิดชอบ โดยเฉพาะตามตรอกซอยที่รกร้าง แคมป์คนงาน รวมทั้งบ้านเรือนและร้านค้าที่อยู่ติดชายหาดและคูคลองมักใช้ชายหาดและลำคลองเป็นที่ทิ้งขยะ หรือกองทิ้งไว้บริเวณริมคลอง รอวันน้ำหลากพัดพาออกทะเล
การแก้ไขป้องกันมิให้ขยะไหลตามน้ำในช่วงฤดูฝน จึงต้องร่วมกันหยุดมักง่าย หยุดทิ้ง ขยะเก่าที่เรี่ยราดอยู่ เทศบาลต้องเก็บไปกำจัดต่อไป ส่วนขยะที่ไหลมากับลำคลองก็ต้องมีมาตรการเก็บ ดักขยะ มิให้ไหลตามน้ำออกทะเล รวมทั้งท่อระบายน้ำต่าง ๆ ที่ไหลออกทะเลบริเวณลานจอดรถหน้าทอน ก็ต้องมีมาตรการดักขยะที่บริเวณปลายท่อ
ผู้เขียนเอง มีธุรกิจอยู่ติดคลองก่อนออกทะเล สามารถยืนยันได้ว่าทุกครั้งที่ฝนตกใหญ่ จะมีขยะปริมาณมากไหลตามน้ำออกสู่ทะเล ผู้เขียนใช้วิธีขึงตาข่าย และปักไม้ไผ่ดักขยะใส่ถุงดำส่งให้รถขนขยะเทศบาลมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ก็สามารถพูดได้ว่า ไม่ใช่เรื่องยากและไม่ใช่เรื่องต้องใช้งบประมาณอะไรมากมาย เพียงแต่คิดแล้วช่วยกันทำ ทุกอย่างก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง อย่างไรก็ตามหน่วยงานราชการหรือเทศบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการเด็ดขาดทางกฏหมายกับผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมือหรือฝ่าฝืนการห้ามทิ้งขยะรวมทั้งการนำมาตรการใหม่ ๆ ที่ตามทันกับสภาพปัญหาในปัจจุบัน เช่น มาตรการทางภาษีสิ่งแวดล้อมและต้องทำควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้ความรู้กับชุมชนและผู้ประกอบการอย่างสม่ำเสมอ
มาตรการในระยะยาวและยั่งยืนคือการ “ปลูก” จิตสำนึกที่ดีงามให้เยาวชน ในสถานศึกษาเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่โรงเรียน หน่วยงานราชการ ชุมชน เอกชนต้องทำอย่างต่อเนื่อง และจริงจังมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งของสังคมที่สามารถมีบทบาทต่อการลดปัญหาขยะ และสิ่งแวดล้อมลงได้มาก หากผู้ประกอบการมีจิตสำนึกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งโดยการมีความรับผิดชอบต่อ “ของเสีย” ต่าง ๆ ที่เป็นผู้ก่อขึ้นต้องพยายามบริหารจัดการในองค์กรของตัวเองเพื่อลดการปล่อยขยะหรือของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกให้น้อยที่สุด รวมทั้งการให้การสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ของสังคม ที่จะช่วยรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดีต้องยอมรับว่ายังมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ขาดจิตสำนึกต่อส่วนรวม มุ่งแสวงหาแต่ผลกำไร โดยไม่สนใจปัญหาที่เกิดขึ้นและในหลาย ๆ กรณี ผู้ประกอบการที่เห็นแก่ตัว คือ ต้นตอแห่งปัญหาทั้งปวง อาจถึงเวลาที่สังคมต้องลุกขึ้นช่วยกันตรวจสอบ แยกน้ำเสียออกจากน้ำดี ก่อนที่ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และหาดสวยงามบางมะขามและหาดอื่น ๆ ในเกาะสมุยจะเหลือเพียงอดีต
อานนท์ วาทยานนท์
กรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Relate topics
- พัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหาร : พัฒนาศักยภาพผู้นำเพื่อร่วมพัฒนาประเทศ
- อยากถามคะ โรงพยาบาลในเกาะสมุยที่ไหนรับตรวจ DNA บ้างคะ
- เกาะสมุยกับ “การท่องเที่ยวสีเขียว”
- โรงพิมพ์สมุยอักษร รับรางวัล “เหรียญเงิน” จากการประกวดสิ่งพิมพ์แห่งชาติ ครั้งที่ 9
- จากวันรวมพลังคนสมุยจับมือต้านแท่นขุดเจาะสู่การรวมพลังคนไทยจับมือปฏิรูปพลังงาน
Page« first 1 2 next › last »
Comment #1

Comment #2

Comment #3

Comment #4

Comment #5

Comment #6

Comment #7

Comment #8

Comment #9

Comment #10

Comment #11

Comment #12

Comment #13

Comment #14

Comment #15

Comment #16

Comment #17

Comment #18

Comment #19

Comment #20

Page« first 1 2 next › last »