ปกรณ์ จารุจิตติพันธ์
แปลและเรียบเรียง
ตั้งแต่อดีตการตั้งถิ่นฐานและอารยธรรมของมนุษย์เกิดขึ้นบริเวณริมฝั่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ลำคลอง ทะเล มหาสมุทร เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์มีตะกอนดินสำหรับการเพาะปลูก มีแหล่งน้ำสำหรับการเกษตร และ มีเส้นทางคมนาคมสัญจรเพื่อติดต่อค้าขายกับโลกภายนอก อาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ริมน้ำเป็นพื้นที่หนึ่งที่สะท้อนเอกลักษณ์ และประวัติศาสตร์ของเมือง
เมื่อการเติบโตขยายลึกเข้าไปในฝั่งเกิดเป็นเมืองใหม่ พื้นที่ริมน้ำที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม จึงเป็นที่รวมของความเสื่อมโทรมและความไร้ระเบียบ เนื่องจากเป็นส่วนของเมืองที่เติบโตมาก่อนส่วนอื่นๆ และเป็นการเติบโตในยุคแรกๆ ที่ยังไม่มีผังและแผนคอยรองรับดูแล เมื่อเกิดเมืองใหม่เมืองเก่าจึงถูกทอดทิ้ง ดังนั้นเราจึงพบความเสื่อมโทรมและการใช้ประโยชน์ที่ทำให้เมืองด้อยค่าในพื้นที่ริมน้ำทั่วโลก
ท่ามกลางความเสื่อมโทรมดังกล่าวหลายเมืองต่างพยายามฟื้นชีวิตพื้นที่ริมน้ำ เพื่อให้เป็นพื้นที่สาธาณะสำหรับประชาชนพลเมืองสามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ให้เป็นพื้นที่ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของเมืองได้อย่างเต็มภาคภูมิ ซึ่งกระบวนการขั้นตอนในการเปลี่ยนผ่านต่างต้องอาศัยชุมชนและผู้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่นั้น เป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการกำหนดทิศทางของการเปลี่ยนแปลง โดยมีองค์กร หน่วยงานต่างๆสนับสนุน
Project for Public Spaces (PPS) เป็นองค์กรเอกชนในนิวยอร์ค ก่อตั้งในปี 2518 ในฐานะองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร มีชื่อเสียงทั่วโลกในด้านการออกแบบและบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะ มีส่วนร่วมในโครงการต่างๆทั้งในฐานะผู้สนับสนุนให้ความรู้แก่ชุมชน ร่วมกระบวนการออกแบบบริหารจัดการพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ ถนน ตลาด สถานีขนส่ง ห้องสมุดและพื้นที่อื่นๆใน 2,000 ชุมชน 47 รัฐ และอีก 26 ประเทศทั่วโลก ได้สรุปหลักการสำคัญในการฟื้นฟูพื้นที่ริมน้ำจากประสบการณ์ในการทำงานกว่า 32 ปี ทั่วโลก ไว้ดังนี้
1. มุ่งประโยชน์สาธารณะเป็นจุดประสงค์หลัก

การเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตั้งแต่ต้น จะก่อให้เกิดความรู้สึกผูกพันและภาคภูมิใจ เอื้อให้กระบวนการขั้นต่อไปของการทำงานมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น
2. ชุมชนสร้างจินตภาพของพื้นที่ที่ต้องการร่วมกัน
จินตภาพร่วมของพื้นที่ (shared community vision) คือ การที่ชุมชนร่วมกันกำหนดเป้าหมาย หรือภาพฝันว่าจะให้พื้นที่เป็นอย่างไร จะมีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งจากภาพที่มีร่วมกันจะทำให้กระบวนการต่อมาชัดเจนขึ้นว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้ภาพดังกล่าวเป็นจริง ก่อให้เกิดกระบวนการคิด และค้นพบโอกาสใหม่ๆในการพัฒนาพื้นที่
จินตภาพร่วมไม่ใช่แผนแม่บท แต่เป็นภาพที่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยน และเริ่มลงมือทดลองทำจากจุดเล็กๆได้ ซึ่งภาพจะมีความชัดเจนขึ้นเมื่อทุกฝ่ายเริ่มเห็นความสำคัญของโครงการ และเข้ามีส่วนร่วม
3. สร้างพื้นที่ย่อยๆ ในพื้นที่ริมน้ำทั้งหมด
เพื่อให้กระบวนการกำหนดจินตภาพร่วมของพื้นที่ชัดเจน PPS ใช้วิธีให้ผู้ร่วมโครงการกำหนดจุดหมายหรือพื้นที่ที่ต้องการให้เกิดกิจกรรม ขึ้น 10 จุดจากพื้นที่ริมน้ำทั้งหมด เมื่อกำหนดพื้นที่หรือจุดหมายได้แล้ว ชุมชน รวมถึง ผู้อยู่อาศัย เอกชน ธุรกิจ องค์กรต่างๆ ร่วมกันกำหนดว่า ในจุดต่างๆทั้ง 10 จุด แต่ละจุดจะมีกิจกรรมหรือการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างไรบ้าง ซึ่ง PPS แนะนำว่าในแต่ละพื้นที่ควรจะมีกิจกรรม 10 อย่างเกิดขึ้น ไม่ควรกำหนดให้พื้นที่หนึ่งรองรับกิจกรรมใดโดยเฉพาะ ซึ่งความต้องการเหล่านั้นจะเป็นเงื่อนไขในการออกแบบพื้นที่ต่อไป
วิธีการนี้จะทำให้การกำหนดจินตภาพของพื้นที่ชัดเจนขึ้น และสร้างการมีส่วนร่วมโดยชุมชนและส่วนต่างๆ เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียคิดอย่างเสรี ต่างกับการกำหนดมาตั้งแต่ต้นว่า จะสร้างสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น อาคาร หรือ สิ่งก่อสร้างใดในพื้นที่หนึ่งๆ ซึ่งไม่เอื้อให้เกิดแนวความคิดใหม่ๆในการพัฒนาพื้นที่
4. เชื่อมพื้นที่ย่อยๆ เหล่านั้นให้ถึงกัน
สิ่งสำคัญคือ ต้องไม่ลืมว่าพื้นที่ย่อยๆ หรือจุดหมายที่กำหนดทั้ง 10 จุด เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ริมน้ำทั้งหมด ดังนั้นจะต้องสร้างความต่อเนื่อง (continuity) ให้พื้นที่เหล่านั้น โดยเฉพาะเมื่อคิดจากมุมมองของคนเดินเท้า
พื้นที่ริมน้ำที่สามารถเดินได้ตลอดแนว มีความหลากหลายของกิจกรรมตลอดเส้นทาง จะทำให้พื้นที่ย่อยๆ แต่ละจุดที่เรากำหนดไว้ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดความต่อเนื่องของพื้นที่ริมน้ำทั้งหมด
นอกจากนั้น การเชื่อมโยงยังหมายรวมถึง การหาวิธีชักนำให้ผู้คนเข้าสู่พื้นที่ริมน้ำโดยการเดินเท้า จักรยาน หรือวิธีอื่น แทนการใช้รถเพียงอย่างเดียว
5. การเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำ
การที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำได้สะดวก และ การเข้าถึงมีความต่อเนื่อง เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีความสำคัญ ยิ่งช่องทางการเข้าถึงมีความต่อเนื่องมากเพียงไรยิ่งเป็นผลดีต่อพื้นที่ริมน้ำนั้น ความไม่ต่อเนื่องเพียงเล็กน้อยก็อาจลดคุณค่าของพื้นที่นั้นๆไปอย่างมาก
และการเข้าถึงยังหมายรวมการที่ผู้ใช้สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับน้ำได้โดยตรง เช่น ว่ายน้ำ ตกปลา พายเรือ หากไม่สามารถให้ผู้ใช้สัมผัสน้ำได้โดยตรง ก็ควรจะมีวิธีอื่น เช่น ลานน้ำพุ สระว่ายน้ำ ที่อยู่ใกล้ๆ บริเวณนั้น เพื่อให้ผู้ใช้รู้สึกถึงความเป็นพื้นที่ริมน้ำ
6. การพัฒนาใหม่ๆ ต้องอยู่ในกรอบของภาพที่ชุมชนคิดร่วมกัน

และที่สำคัญการพัฒนานั้นจะต้องไม่ทำลายความต่อเนื่องของพื้นที่ริมน้ำ เช่น ไม่ควรทำลานจอดรถ หรือ พัฒนาโครงการที่ให้ความสำคัญกับรถยนต์ ซึ่งในที่สุดจะทำให้พื้นที่ริมน้ำขาดความต่อเนื่อง ไม่เอื้อต่อผู้ใช้ โดยเฉพาะสำหรับคนเดินเท้า
7. เอื้อให้เกิดกิจกรรมในพื้นที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
พื้นที่ริมน้ำที่ประสบความสำเร็จ ส่วนมากจะไม่ได้ตั้งอยู่ในย่านที่อยู่อาศัย เนื่องจากพื้นที่ริมน้ำควรจะเป็นที่ที่มีผู้คนใช้ประโยชน์ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นพื้นที่สำหรับจัดงานเทศกาล คอนเสิร์ต ตลาดนัด รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ของชุมชนและเมือง การพัฒนาย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นริมน้ำ ไม่ส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างเต็มที่
8. ใช้สวนสาธารณะเป็นทางเชื่อม ไม่ใช่จุดหมาย
บทบาทของสวนสาธารณะในพื้นที่ริมน้ำ ควรเป็นทางหรือพื้นที่ที่เชื่อมโยงพื้นที่ย่อยๆ เข้าด้วยกัน มากกว่าเป็นจุดเด่นหลักของพื้นที่ริมน้ำทั้งหมด
พื้นที่สีเขียวที่เน้นการใช้ประโยชน์เชิงรับ และไม่ตอบรับกิจกรรมและกลุ่มผู้ใช้ที่หลากหลาย จะลดความมีชีวิตชีวาของพื้นที่ริมน้ำ
พื้นที่ริมน้ำที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นที่ เฮลซิงกิ, สต็อกโฮล์ม, ซิดนีย์, หรือ บัลติมอร์ ต่างใช้สวนสาธารณะในฐานะเป็นตัวเชื่อมพื้นที่ย่อยๆเข้าด้วยกัน
9. อาคารและการใช้ประโยชน์ ต้องสอดรับกับพื้นที่สาธารณะ
อาคารในบริเวณพื้นที่ริมน้ำและการใช้ประโยชน์จากอาคาร จะต้องเอื้อต่อพื้นที่สาธารณะและกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในบริเวณนั้น
อาคารสูงบางประเภท นอกจากจะกันพื้นที่ชั้นล่างของอาคารไว้ใช้ส่วนตัว ไม่เอื้อต่อพื้นที่สาธารณะที่อยู่โดยรอบแล้ว ในบางครั้งยังเป็นกำแพงที่ตัดขาดพื้นที่ริมน้ำออกจากพื้นที่รอบๆ
10. ส่งเสริมให้มีการเดินทางหลายรูปแบบ และจำกัดการใช้พาหนะส่วนตัว

การมีทางจักรยาน หรือ ทางเดินกว้างขวาง สะดวกสบาย ไม่ถูกรบกวนจากพาหนะอื่นๆ เป็นหนึ่งในอีกปัจจัยความสำเร็จ
11. ผู้ใช้ สามารถทำกิจกรรมได้ทุกฤดู ตลอดปี

การออกแบบให้ ผู้ใช้สามารถมีกิจกรรมในพื้นที่ริมน้ำได้ทุกช่วงเวลา ยังทำให้โครงการนั้นๆ มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาใช้บริการมากขึ้น
12. สร้างอาคารเดี่ยวเป็นจุดเด่น และตอบสนองการใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย
อาคารริมน้ำ อาจส่งผลดีต่อพื้นที่ริมน้ำ ตราบใดที่อาคารดังกล่าวตอบสนองการใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย และสนับสนุนกิจกรรมที่เกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าว
เช่น ศาลาว่าการเมืองในกรุงสต็อกโฮล์ม เป็นหนึ่งในอาคารริมน้ำที่จอแจที่สุดในเช้าวันหยุด ทั้งนี้เนื่องจาก ศาลาว่าการไม่ได้ปิดประตูตาย แต่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าวได้ มีร้านค้า สวน และ สนามหญ้าที่ผู้คนสามารถเข้าถึง รวมถึงมีท่าเรือหลักซึ่งจอดรับนักท่องเที่ยวอยู่ในบริเวณเดียวกัน
13. การบริหารจัดการ
การร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่คอยดูแลทางด้านกายภาพและการบำรุงรักษา รวมถึงวางแผนจัดกิจกรรม หรืองานเทศกาล ต่างๆ ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ตลอดทั้งปี เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการสร้างพื้นที่ริมน้ำให้ได้รับการยอมรับ และสร้างเอกลักษณ์ของพื้นที่ริมน้ำนั้นๆ
ข้อมูลและภาพ






