ปกรณ์ จารุจิตติพันธ์
"ถ้าเราวางผังเมืองเพื่อรถและการจราจร เราก็จะได้รถและการจราจร, ถ้าเราวางผังเมืองเพื่อคนและสถานที่ เราก็จะได้คนและสถานที่"ใครเป็นคนพูดคนแรกก็ไม่รู้ได้ รู้แต่ว่าคราวนี้ได้แต่อ้างถึงจากข้อเขียนของ Fred Kent
ข้อใหญ่ใจความของบทความเรื่อง "Streets Are People Places" คือการตั้งคำถามกระตุ้นให้คิดว่า การจราจรขวักไขว่ รถยนต์มากมาย และพื้นผิวถนนที่ขยายตัวเรื่อยๆ เป็นผลที่จำต้องเกิดจากการเติบโตของเมืองหรือไม่ หรือว่ามันเป็นผลที่จำต้องเกิดเพราะแนวคิดในการพัฒนาเมืองให้ความสำคัญต่อ "รถ" มากกว่า "คน"
หากแนวคิดกลับตาลปัตรเป็นว่า ถนนเส้นหนึ่งไม่ใช่แค่ทางที่คนขับหวังทะลุผ่านให้เร็วที่สุด แต่กลับเป็นจุดหมายที่ผู้คนมุ่งมาเพราะบทบาทของถนนเส้นนั้นไม่ใช่ "ทาง" ในความหมายเดิม แต่เป็นพื้นที่สาธารณะที่มีกิจกรรมทางสังคมเกิดขึ้นมากมาย เมืองจะน่าอยู่ขึ้นแค่ไหน
ถนนที่ผู้ปกครองรู้สึกปลอดภัยที่จะให้ลูกหลานใช้ชีวิตในเมืองได้อย่างมีความสุข
ถนนที่ให้ความสำคัญกับคนเดินเท้ามากกว่ารถยนต์ส่วนตัว
ถนนที่ไม่ตัดขาดชุมชนจนทำให้เหมือนอยู่ห่างกันคนละฟากฟ้า
ถนนที่ให้ความสำคัญกับจักรยาน การขนส่งสาธารณะ และการเดินทางรูปแบบอื่นๆที่ไม่ใช่รถยนต์ส่วนตัว
จะบรรลุเป้าหมายนั้นได้ก็ต้องพูดคุยและวางผังที่ควรเป็นของเมืองกันใหม่ รวมถึงกำหนดแผนการขนส่งทั้งระบบ แต่ที่สำคัญคงต้องเริ่มจากการตั้งคำถามว่า เมืองที่เราฝันถึงคือเมืองของคนหรือเมืองของรถ
ลองมาดูตัวอย่างที่เกิดขึ้นจากเมืองอื่น
บทเรียนจากปารีส
ปารีสเหมือนเมืองอื่นๆ ที่การขยายตัวของจำนวนรถยนต์สร้างผลกระทบแก่เมืองและประชาชน แต่ปารีสเลือกที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการสร้างสมดุลระหว่างรถยนต์ส่วนตัว คนเดินเท้า การขนส่งสาธารณะ และการเดินทางรูปแบบอื่นๆ โดยไม่ปล่อยให้รถส่วนตัวครองถนนอีกต่อไป
เมื่อได้รับเลือกตั้งในปี 2001 นายกเทศมนตรี Bertrand Delanoë ชี้ให้เห็นว่า ผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวซึ่งคิดเป็น 25% ของผู้ใช้ถนนทั้งหมด กลับใช้พื้นผิวถนนของกรุงปารีสไปถึง 94% ตัวเลขนี้ทำให้เห็นทางออกของปัญหา ซึ่งคำตอบก็คือ ต้องสร้างสมดุลระหว่างผู้ใช้ถนน
แล้วโครงการต่างๆ ก็เริ่มขึ้น
ขยายทางเท้าทั่วเมืองให้กว้างกว่าเดิม ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม สร้างทางจักรยาน (ปัจจุบันมีทางจักรยานรวมกันยาวประมาณ 200 ไมล์) วางระบบขนส่งมวลชนด้วยรางขนาดเล็กรอบๆเมืองเพื่อเชื่อมการเดินทางโดยรถไฟใต้ดินและรถไฟด่วน เพิ่มเที่ยวรถไฟให้มากขึ้น
สร้างทางสำหรับรถโดยสารสาธารณะ (bus lane) โดยกันพื้นที่ส่วนหนึ่งของถนน ซึ่งทำให้รถสาธารณะวิ่งได้เร็วขึ้น แต่ในทางกลับกันทำให้ผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวได้รับความสะดวกน้อยลง
นายกเทศมนตรีก้าวไปไกลถึงขนาดทำให้ความเร็วของรถบนถนนบางสายลดลง ด้วยการเปลี่ยนการเดินรถจากวิ่งทางเดียวเป็นวิ่งสวนทางกัน ลดขนาดของถนนโดยกันพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นช่องทางสำหรับจักรยาน และมีแผนที่จะปิดช่องทางด่วนบนฝั่งขวาของแม่น้ำเซน (Seine) (ปัจจุบันนครปารีสก็ปิดเส้นทางริมฝั่งน้ำปีละ 1 เดือนในช่วงฤดูร้อน เพื่อเนรมิตรให้เป็นหาดกลางเมือง (Paris Plage) โดยการขนทรายหลายตันเพื่อสร้างชายหาด สำหรับผู้ที่ไม่สามารถไปพักร้อนริมทะเลได้ พร้อมกับจัดกิจกรรมต่างๆ) และกำหนดพื้นที่ที่ห้ามรถยนต์วิ่งผ่านในวันอาทิตย์หรือวันหยุดอื่นๆ
ท่านนายกเทศมนตรีหวังว่าในปี 2012 ภายในพื้นที่ 2.2 ตารางไมล์ทางฝั่งขวาของแม่น้ำเซน จะไม่มีรถอื่นๆวิ่ง นอกจาก รถขนส่งสาธารณะ รถของผู้อยูอาศัยในบริเวณนั้น รถสำหรับเหตุฉุกเฉิน และรถส่งของขนาดเล็ก ผลจากการดำเนินมาตรการต่างๆนั้น ทำให้ความเร็วของรถยนต์สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ความเร็วของรถยนต์ยังคงที่ มลภาวะทางอากาศลดลง ตัวเลขผู้ใช้บริการขนส่งมวลชนเพิ่มขึ้น และจากผลการสำรวจระบุว่า กว่า 80% ของชาวปารรีสพอใจในการเปลี่ยนแปลง และต้องการให้ให้ดำเนินการมาตรการอื่นๆมากขึ้น แม้ว่าจะมีข้อบกพร่องและความไม่สมบูรณ์ในบางด้านก็ตาม ได้แต่หวังว่าวันหนึ่ง เมืองของเราคงเป็นเมืองที่ออกแบบสำหรับ ''คน" มากกว่า "รถ" |
ข้อมูลและภาพ
- http://www.pps.org/info/newsletter/june2005/transportationasplace
- http://www.pps.org/info/newsletter/june2005/paris
- http://urban.csuohio.edu/~sanda/pic/travel/others/mm/paris/plage/paris%20plage.jpg

