สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีนโยบายที่จะประกาศให้พื้นที่ เกาะสมุย เกาะพะงัน และ เกาะแตน เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2550 ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่โรงแรมเวิลด์รีสอร์ท เกาะสมุย
ขณะนี้ " ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่เกาะสมุย เกาะแตน อำเภอเกาะสมุย และเกาะพะงัน อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี " อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในบางประเด็น โดยคาดว่าจะได้ลงพื้นที่ในต้นปี 2551 ก่อนที่จะนำร่างฯ ดังกล่าวเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ อีกครั้ง
ดังนั้น จึงเชิญชวนทุกท่านร่วมส่งความเห็น ข้อเสนอแนะ ต่อร่างฯ ดังกล่าวได้ผ่านทางเว็บนี้ หรือ จะส่งโดยตรงไปที่กองสิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
****************************
ร่าง
ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
ในบริเวณพื้นที่เกาะสมุย เกาะแตน อำเภอเกาะสมุย
และเกาะพะงัน อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 มาตรา 48 มาตรา 50 และมาตรา 51 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติ แห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และโดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่
ออกประกาศกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่เกาะสมุย เกาะแตน อำเภอเกาะสมุย และเกาะพะงัน อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
"แนวชายฝั่งทะเล" หมายความว่า แนวที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดตามปกติทางธรรมชาติ
"ชายหาด" หมายความว่า บริเวณพื้นที่ระหว่างน้ำทะเลขึ้นสูงสุดตามปกติทางธรรมชาติและน้ำทะเลลงต่ำสุดตามปกติทางธรรมชาติ
ข้อ 2 ให้พื้นที่ที่ได้มีการกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ เขตควบคุมอาคาร และเขตผังเมืองรวมของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดังต่อไปนี้ เป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้
(1) พื้นที่ภายในแนวเขตตามกฎกระทรวงฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2532) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
(2) พื้นที่ภายในแนวเขตตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมืออวนลากอวนรุนที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมง ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2515 ในบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปในทะเลเป็นระยะ 3,000 เมตร
(3) กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี พ.ศ. 2549
(4) กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนเกาะแตน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 25..
(5) กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 25..
ให้กำหนดพื้นที่ตามวรรคหนึ่ง เป็น 4 บริเวณ ดังต่อไปนี้
บริเวณที่ 1 หมายถึง พื้นที่น่านน้ำในบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลโดยรอบเกาะสมุย เกาะแตน และเกาะพะงัน ออกไปในทะเลเป็นระยะ 3,000 เมตร
บริเวณที่ 2 หมายถึง พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกินกว่า 150 เมตรขึ้นไป ในพื้นที่เกาะสมุย และเกาะพะงัน และพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกินกว่า 50 เมตร ขึ้นไปในพื้นที่เกาะแตน
บริเวณที่ 3 หมายถึง พื้นที่บนแผ่นดินทั้งหมดของเกาะสมุย และเกาะพะงัน ยกเว้นบริเวณที่ 2
บริเวณที่ 4 หมายถึง พื้นที่บนแผ่นดินทั้งหมดของเกาะแตน ยกเว้นบริเวณที่ 2
ข้อ 3 ในพื้นที่ตามข้อ 2 ห้ามมิให้กระทำการหรือประกอบกิจกรรม ดังต่อไปนี้
(1) ภายในบริเวณที่ 1 หมายถึง พื้นที่น่านน้ำในบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลโดยรอบเกาะสมุย เกาะแตน และเกาะพะงัน
ก. การทำเหมือง การขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามประทานบัตรหรือสัมปทานที่ได้รับอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ
ข. การถมทะเล หรือที่ชายตลิ่ง เว้นแต่เป็นนโยบายของรัฐตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ทั้งนี้ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
ค. การล่วงล้ำลำน้ำ ยกเว้นกระชังเลี้ยงปลา กุ้ง และหอย อาคารและการล่วงล้ำลำน้ำตามข้อ 4 (1) ถึง (7) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 ที่ได้รับอนุญาต
ง. การกระทำ หรือการประกอบกิจการใดๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือมีผลกระทบหรือทำให้กัลปังหา สาหร่ายทะเล หอยมือเสือ ปะการัง ซากปะการังหรือหินปะการัง และหญ้าทะเล ถูกทำลายหรือเสียหาย
จ. การจับหรือครอบครองปลาสวยงาม และปลิงทะเล เว้นแต่เป็นการครอบครองของทางราชการเพื่อการวิจัยทางวิชาการ การคุ้มครอง การเพาะพันธุ์หรือเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะ โดยได้รับอนุญาตจากกรมประมง
ฉ. การปล่อยทิ้งมลพิษลงสู่ทะเล เว้นแต่ได้ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของทางราชการแล้ว
ช. ห้ามขุดลอกร่องน้ำ เว้นแต่เป็นการบำรุงรักษาทางน้ำ และการดำเนินการเพื่อความปลอดภัยในการจอดหรือเดินเรือ โดยผ่านคณะกรรมการกำกับดูแล และติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัด
ซ. การประมงที่ใช้เครื่องมือประมงประเภทอวนลาก อวนรุน หรืออวนล้อมทุกประเภททุกขนาดที่ใช้ประกอบกับเรือยนต์ และเครื่องมือทำการประมงทุกชนิดที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
ฌ. การเล่นสกูตเตอร์ เจ็ตสกีและเรือลากเครื่องเล่นชนิดต่างๆ เว้นแต่ในพื้นที่ที่คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกำหนด
(2) ภายในบริเวณที่ 2 ห้ามมิให้กระทำการหรือประกอบกิจกรรม ดังต่อไปนี้
ก. การระเบิด ขุด ตัก ดิน หินผุ ทราย เว้นแต่การขุดที่เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการเพื่อก่อสร้างโดยได้รับอนุญาตจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้วซึ่งไม่ขัดกับประกาศนี้
ข. การกระทำด้วยประการใดๆ ที่เป็นการเปิดหน้าดิน ยกเว้น การทำเกษตรกรรมหรือการกระทำที่เข้าข่ายการเกษตร ไม่เกิน 15 ไร่ หรือดำเนินการเพื่อก่อสร้างโดยได้รับอนุญาตจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งไม่ขัดกับประกาศนี้
ค. การสร้างถนน เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการเพื่อการสาธารณูปโภคและเพื่อสาธารณะประโยชน์ ทั้งนี้ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัด
ง. การจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน
(3) ภายในบริเวณที่ 3 และ 4 ห้ามมิให้กระทำการหรือประกอบกิจกรรม ดังต่อไปนี้
ก. การกระทำหรือกิจกรรมใดๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาดไปจากเดิม
ข. การกระทำหรือกิจกรรมใดๆ อันก่อให้เสียทัศนียภาพบริเวณชายหาด ยกเว้น ป้ายเตือนของทางราชการ การทำทุ่นจอดเรือและการดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยทางทะเลและชายหาด
ค. การทำเหมือง
ง. การถมปรับพื้นที่ หรือปิดกั้น ซึ่งทำให้แหล่งน้ำสาธารณะตื้นเขิน เปลี่ยนทิศทาง หรือทำให้น้ำในแหล่งน้ำนั้นไม่อาจไหลไปได้ตามปกติ เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการเพื่อสาธารณะประโยชน์ เช่น ฝาย เขื่อน
จ. การขุด ถม หรือเปลี่ยนสภาพธรรมชาติของพื้นที่พรุ เว้นแต่การดำเนินงานของ ทางราชการเพื่อการวิจัยทางวิชาการ การคุ้มครอง และการเพาะพันธุ์พืชและสัตว์น้ำ
ฉ. การทำสนามกอล์ฟ
ช. การปล่อยทิ้งมลพิษลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือทะเล เว้นแต่ได้ผ่านการบำบัด ตามมาตรฐานของทางราชการแล้ว
ซ. การขุด ตัก ลอก กรวด ดิน ดินลูกรัง หินผุ หรือทราย เพื่อการค้าในบริเวณที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ 30
ข้อ 4 ในพื้นที่ตามข้อ 2 ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใดๆ เป็นอาคารหรือประกอบกิจการ ดังต่อไปนี้
(1) ภายในบริเวณที่ 2 ห้ามอาคารทุกชนิด ทุกประเภท เว้นแต่การดำเนินการในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ได้มาก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้อนุญาตเฉพาะอาคารอยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวที่มีความสูงไม่เกิน 6 เมตร พื้นที่อาคารรวมกันไม่เกินร้อยละ 20 ของพื้นที่ที่ยื่นขออนุญาต
(2) ภายในบริเวณที่ 3 และ 4
ก. เขื่อน หรือกำแพง ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในที่สาธารณะ ในลักษณะปิดกั้นทางลงสู่ทะเล หรือชายหาด
ข. อาคารรุกล้ำแหล่งน้ำหรือพื้นที่สาธารณประโยชน์
ข้อ 5 ในพื้นที่บริเวณที่ 3 และ 4 การก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใดๆ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
ก. อาคารพาณิชย์หรือโรงแรม ต้องติดตั้งบ่อดักไขมันและระบบบำบัดน้ำเสีย
ข. โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศต้องปลูกต้นไม้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ว่างที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารหรือกฎหมายผังเมืองกำหนดไว้
ค. ในบริเวณที่ 4 โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศ ในแต่ละโครงการให้สร้างได้ไม่เกิน 20 ห้อง
ข้อ 6 ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่จะทำการก่อสร้างอาคาร หรือดำเนินโครงการหรือประกอบกิจการดังต่อไปนี้ ในพื้นที่ตาม ข้อ 2 เสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นหรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วแต่กรณีต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบปฏิบัติที่กำหนดไว้ตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ดังต่อไปนี้
(1) การก่อสร้างอาคาร หรือการดำเนินโครงการหรือประกอบกิจการดังต่อไปนี้ ให้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น
ก. โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศ ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 10 ห้องถึง 79 ห้อง
ข. อาคารอยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 10 ห้องถึง 79 ห้อง
ค. สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ที่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนตั้งแต่ 10 ถึง 29 เตียง และอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลไม่เกินกว่า 50 เมตร
ง. การจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหรือเพื่อประกอบการพาณิชย์ จำนวนที่ดินแปลงย่อยตั้งแต่ 10 แปลง ถึง 99 แปลง หรือเนื้อมีที่ต่ำกว่า 19 ไร่ลงมา
จ. ท่าเทียบเรือทุกประเภทที่มีขนาดตั้งแต่ 100 ตันกรอส ถึง 500 ตันกรอสหรือมีความยาวหน้าท่าตั้งแต่ 20 เมตร แต่ไม่เกิน 40 เมตร
ฉ. การขุด ตัก ลอก กรวด ดิน ดินลูกรัง หินผุ หรือทราย เพื่อการค้าในพื้นที่ที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ 30
(2) การก่อสร้างอาคาร หรือการดำเนินโครงการหรือประกอบกิจการดังต่อไปนี้ ให้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ก. การก่อสร้างอาคาร หรือดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการประเภทต่างๆ ที่มีขนาดเกินกว่าที่กำหนดไว้ใน (1) ก - ข และ ง - จ
ข.การก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ หรืออ่างเก็บน้ำ
ค. ทางหลวง ทาง หรือถนนที่ก่อสร้างบนพื้นที่สูงเกินกว่า 150 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ง. ทางหรือถนนสาธารณะที่มีขนาดมากกว่า 2 ช่องจราจร ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกในบริเวณที่ 4
จ. ทางหรือถนนสาธารณะที่ก่อสร้างบนพื้นที่ที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ 30 และมีความยาวตั้งแต่ 1 กิโลเมตรขึ้นไป
ฉ. โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลที่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนตั้งแต่ 30 เตียงขึ้นไป หรืออยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลไม่เกิน 50 เมตร
ข้อ 7 เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตามข้อ 2 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมขึ้นในจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ดูแล ติดตาม ตรวจสอบในการนำมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามประกาศนี้ และให้ความเห็นชอบการนำแผนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมไปสู่การปฏิบัติ
ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนส่วนราชการประจำจังหวัดหรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอท้องที่ที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในพื้นที่ไม่เกิน 3 คน ผู้แทนภาคเอกชนซึ่งมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรมหรือการท่องเที่ยวที่อยู่ในพื้นที่ไม่เกิน 3 คน และผู้แทนภาคเอกชน ซึ่งมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในพื้นที่ไม่เกิน 3 คน เป็นกรรมการ และให้หัวหน้าสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ
กรรมการตามวรรค 2 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้เสนอชื่อต่อรัฐมนตรี ภายในหกสิบวัน นับแต่ประกาศนี้ใช้บังคับ
ข้อ 8 ให้คณะกรรมการตามข้อ 7 มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนป้องกันการทำลาย ฟื้นฟูและบำบัดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตามข้อ 2 ดังต่อไปนี้
(1) กำหนดจุดและทำทุ่นจอดเรือสำหรับการจอดเรือเพื่อกิจกรรมดำน้ำดูปะการังในบริเวณที่ 1 เพื่อมิให้การทอดสมอเรือส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง และหญ้าทะเล
(2) กำหนดให้มีการฟื้นฟูและบำรุงรักษาพื้นที่ป่าพรุและป่าชายเลน ให้ฟื้นคืนสู่ธรรมชาติโดยเร็วเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เพิ่มความอุดมสมบรูณ์ให้แก่ธรรมชาติ ทั้งนี้ให้สอดคล้องกับแผนการจัดการป่าชายเลนและพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศตามมติของคณะรัฐมนตรี
(3) กำหนดให้มีการจัดระเบียบชายหาดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในบริเวณที่ 3 และบริเวณที่ 4 ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและดำรงเอกลักษณ์ทางธรรมชาติ โดยเฉพาะการปลูกต้นมะพร้าว และไม่ก่อให้เกิดการทำลายทัศนียภาพและสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้มาเยือน
(4) กำหนดแผนการดำเนินการจัดทำป่าชุมชน เพื่อชุมชนร่วมกันดูแลรักษาป่า และเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน รวมทั้งป้องกันไม่ให้ถูกบุกรุก เข้ายึดครองเป็นพื้นที่เอกชน
(5) กำหนดการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในทะเลในพื้นที่ตามข้อ 2 บริเวณที่ 1 รวมทั้งขนาด และประเภทของเครื่องเล่นกีฬาทางน้ำ เพื่อรักษาสภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว
(6) กำหนดแผนให้มีการจัดทำแผนการขุดลอก คูคลอง และแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม
ข้อ 9 ในพื้นที่ตามข้อ 2 หากมีกฎหมายใดกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและเป็นมาตรการที่ไม่ต่ำกว่ามาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือมีมาตรการที่ดีกว่าในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ก็ให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น
ข้อ 10 ให้ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมอาคารหรือการประกอบกิจการใดๆ ในพื้นที่ตามข้อ 2 ปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้
ข้อ 11 อาคารที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 2 ก่อนหรือวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามประกาศนี้ แต่ห้ามดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารดังกล่าวให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้
ข้อ 12 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับได้มีกำหนดระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ พ.ศ. ....
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
****************************















